ทักษะแห่งศตวรรษที่21

สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างกันไปในแต่ละศตวรรษ แน่นอนว่าทักษะและการเรียนรู้ของมนุษย์ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสอดคล้องและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทักษะในศตวรรษที่ 21 ย่อมมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ซึ่งทักษะที่จำเป็นของคนในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3R x 7C

3R ได้แก่

  1. Reading (อ่านออก)
  2. (W)Riting (เขียนได้)
  3. (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)

7C ได้แก่

  1. Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
  2. Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม)
  3. Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
  4. Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือการทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
  5. Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ)
  6. Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
  7. Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

การเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะดังกล่าวเน้นความสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (Student Outcomes) และ 2. ระบบสนับสนุน (Support Systems) ซึ่งต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนะ (perspectives) จากกระบวนทัศน์แบบดั้งเดิม (tradition paradigm) ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) โดยให้ตัวผู้เรียนและโลกความเป็นจริงเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้ เน้นพัฒนาทักษะและทัศนคติ ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะองค์การ ทัศนคติเชิงบวก ความเคารพตนเอง นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะและค่านิยมทางเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นตนเอง ความยืดหยุ่น การจูงใจตนเอง และความตระหนักในสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นลักษณะการเรียนรู้แบบ Teach less Learn More คือ สอนให้น้อยแต่เรียนรู้ใหม่มากขึ้น ดังนั้นการออกแบบและวิธีการที่จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้นโดยตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงมีความสำคัญในการพัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถของคนในศตวรรษที่ 21 ให้ประสบความสำเร็จทั้งการทำงานและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

สำหรับหน่วยงานหรือองค์การต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีคนอยู่ในองค์การและถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จให้แก่องค์การนั้น อาจจะต้องย้อนกลับมามองรูปแบบและวิธีการพัฒนาบุคลากรของตนเองว่า มีความสอดคล้องและสามารถสร้างให้เกิดทักษะที่มีความจำเป็นในศตวรรษที่ 21 แล้วหรือยัง หากยังคงใช้รูปแบบและวิธีการแบบเดิมๆในการพัฒนาบุคลากรอยู่ก็ย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญแบบเดิม ซึ่งอาจทำให้องค์การไม่สามารถแข่งขันหรือก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เพราะองค์การเองต้องอาศัยศักยภาพของคนในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างความเติบโตและความสำเร็จด้วยเช่นกัน

โดย นางสาวพัชรี ปานแก้ว บุคลากรปฏิบัติการ กองบริหารทรัพยากรบุคคล